ประวัติ


“อากาศยาน เหิสู่ฟ้า นั่นคือหน้าที่ของเรา”
       กิจการการบินของประเทศไทยได้ก่อกำเนิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระบรมราโชบาย ทำนุบำรุงกิจการทหารอย่างจริงจัง และทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีเครื่องบินไว้ป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ ด้วยเหตุนี้ กระทรวง กลาโหมจึงได้จัดตั้งแผนกการบินกองทัพบกอยู่ในบังคับบัญชาของจเรทหารช่าง คือ นายพลโท พระเจ้าบรม วงศ์เธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน จนกระทั่งปี พุทธศักราช ๒๔๘๐ แผนกการบินได้ยกฐานะเป็นกองทัพอากาศ ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม เวลาต่อมาส่วนโรงงานของกรมอากาศยานได้ยกฐานะเป็น กองโรงงานกรม ช่างอากาศ เมื่อ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมช่างอากาศ
ธันวาคม ๒๔๕๖
กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้ง “ แผนกการบิน” ขึ้นตรงต่อจเรทหารช่างและเสนาธิการทหารบก โดยมีส่วนขึ้นตรงคือ นักบินและโรงงาน (ซึ่งต่อมา คือ กรมช่างอากาศ) วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๕๗ แผนกการบินยกฐานะเป็น “กองบินทหารบก” โรงงานจึงขึ้นตรงต่อกองการบินทหารบก (๒๗ มีนาคม ๒๔๕๗ เป็นวันที่กระทรวงกลาโหมออกคำสั่งตั้งเป็นกองบินทหารบก ซึ่งเริ่มเป็นปึกแผ่นแล้วจึงนับว่าวันนี้เป็นวันที่ระลึกกองทัพอากาศ)
๑๙ มีนาคม ๒๔๖๑
ยกฐานะจาก “ กองการบินทหารบก ” เป็นกรมอากาศยานทหารบก โรงงาน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงงานกรมอากาศยานทหารบก
๑ ธันวาคม ๒๔๖๔
เปลี่ยนชื่อจากกรมอากาศยานทหารบก เป็น กรมอากาศยาน เนื่องจาก
กห. พิจารณาเห็นว่ากำลังทางอากาศมิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่น ๆ เช่น การพาณิชย์ และคมนาคม เป็นต้น โรงงานจึง เปลี่ยนชื่อเป็นโรงงานของกรมอากาศยาน

 
๑๙ เมษายน ๒๔๖๕
ได้มีการจัดส่วนราชการของกรมอากาศยานใหม่ โดยโรงงานของกรมอากาศยานยกฐานะเป็น “ กองโรงงาน กรมอากาศยาน ” ตั้งอยู่ที่ดอนเมือง ทางด้านตะวันตกของสนามบิน มีหน้าที่อำนวยการบริการการบินทั่วไป สร้างเครื่องบินตามแบบของต่างประเทศบูรณะซ่อมแซมเครื่องบินและเครื่องยนต์ให้พร้อมที่จะปฏิบัติการได้เสมอ จึงถือวันนี้เป็นวันที่ก่อตั้งกรมช่างอากาศ เป็นต้นมา
พุทธศักราช ๒๔๗๓
ได้ย้ายหน่วยงานจากที่ตั้งดอนเมืองมาอยู่ที่บางซื่อ และเริ่มทำการผลิตเครื่องบินในขั้นจัดเป็นสายการผลิต
๑๒ เมษายน ๒๔๗๘
เปลี่ยนชื่อจาก กองโรงงาน กรมอากาศยาน เป็น “ กองโรงงาน กรมทหารอากาศ ”
๙ เมษายน ๒๔๘๐
กรมทหารอากาศยกฐานะเป็น “ กองทัพอากาศ ” ดังนั้น กองโรงงาน กรมทหารอากาศ จึงได้ยกฐานะเป็น “กรมโรงงานทหารอากาศ” ขึ้นตรงต่อกองทัพอากาศ
พุทธศักราช ๒๔๙๑
เปลี่ยนชื่อจาก กรมโรงงานทหารอากาศ เป็น กรมช่างอากาศ ขึ้นตรง ต่อกองทัพอากาศ 
ตุลาคม ๒๕๓๙
กรมช่างอากาศจัดอยู่ในสายยุทธบริการ ในสายการบังคับบัญชาของกองบัญชาการสนับสนุนทหารอากาศ หรือเรียกตามคำย่อว่า บนอ. ขึ้นตรงต่อกองทัพอากาศ
๑ เมษายน ๒๕๕๒
กองทัพอากาศ ได้ปรับโครงสร้างใหม่ กรมช่างอากาศ จัดอยู่ในสาย ยุทธบริการขึ้นตรงต่อกองทัพอากาศ มีหน้าที่วางแผนการปฏิบัติ อำนวยการ ประสานงาน ติดตาม กำกับการ พัฒนาและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการช่างอากาศทั้งระบบ การพัสดุช่างอากาศ และการพัสดุเชื้อเพลิง กับมีหน้าที่จัดการความรู้ ควบคุม ประเมินผล และตรวจตรากิจการในสายวิทยาการด้านช่างอากาศ โดยมีหน่วยขึ้นตรง กรมช่างอากาศ ดังรูป


วิสัยทัศน์
เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการซ่อมสร้างอากาศยาน ให้มีความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานสากล
ผลงานสำคัญที่ผ่านมาของกรมช่างอากาศ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
๒๔ พฤษภาคม ๒๔๕๘
สร้างเครื่องบินแบบ เบรเกต์ ชนิดปีก ๒ ชั้นเป็นผลสำเร็จ ได้ทดลองทำการบินโดยพันโท พระเฉลิมอากาศ ผู้บังคับการกองบินทหารบกเครื่องบินสามารถขึ้นสู่อากาศได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถบินไปมาในระยะสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร
๑๒ พฤษภาคม ๒๔๖๔
สร้างเครื่องบินนิออร์ปอร์ท และทำการบินได้สำเร็จ จำนวน ๔ เครื่อง การสร้างลำตัว ปีก หางและใบพัดของเครื่องบิน สร้างด้วยพันธุ์ไม้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ปี พ.ศ. ๒๔๗๐
ได้ทำการออกแบบและสร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บ.ท.๒ ซึ่งเครื่องบินแบบนี้เรียกว่า เครื่องบินบริพัตร เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด ๒ ที่นั่ง ปีก ๒ ชั้น ใช้เครื่องยนต์จูปิเตอร์ ๔๐๐-๖๐๐ แรงม้า ๑ เครื่อง ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ ใช้บินเดินทางไปเยือนอินเดีย และในปี ๒๔๗๓ ได้บิน ไปฮานอย ปัจจุบันมีตัวอย่างให้ชมบริเวณช่องทางเข้าสโมสรนายทหารอากาศ บางซื่อ
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒
ได้ออกแบบ และสร้างเครื่องบินขับไล่ แบบ ข.๕ ซึ่งเครื่องบินแบบนี้เรียกว่า“เครื่องบินประชาธิปก” ตามพระนามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานชื่อไว้ นับว่าเป็นเครื่องบินแบบที่สองที่ออกแบบและสร้างเองโดยคนไทย 
๑๕ มิถุนายน ๒๔๗๒
ได้สร้างเครื่องบินแบบนิออร์ปอร์ท โดยใช้เครื่องยนต์เลอโรน ๘๐ แรงม้า จำนวน ๑ เครื่อง
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐
พัฒนาการสร้าง บ.ทอ.๒ ดัดแปลงชุดหางจากเครื่องบินสื่อสาร แบบที่ ๕ ซึ่งเดิมเป็น V Type ให้เป็นแบบใช้แพนหางดิ่ง และแพนหางระดับ แผนแบบ บ.ทอ.๓ และผลิตหุ่นจำลองขนาด ๑:๖ ไปทดลองที่ประเทศญี่ปุ่น, บ.ทอ.๔ ใช้แบบจากเครื่องบินฝึก แบบที่ ๙ โดยเปลี่ยนเครื่องยนต์และแผ่นโครงสร้างบริเวณปีก และลำตัวจำนวน ๑๒ เครื่อง เข้าประจำการกองทัพอากาศเป็นเครื่องบินฝึก แบบ ๑๗
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔
พัฒนาเครื่องบินแบบ บ.ทอ.๔ เป็นเครื่องบินแบบฝึก ปีกชั้นเดียว ๒ ที่นั่งตามกัน ฐานพับไม่ได้ ใช้เครื่องยนต์คอนติเนนตัลไอโด-๓๖๐ ดี กำลัง ๒๑๐ แรงม้า จำนวน ๑๒ เครื่อง ทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๕
ปี พ.ศ. ๒๕๑๗
แผนแบบด้านโครงสร้างและอากาศพลศาสตร์ บ.ทอ.๕ โดยทำการสร้างและทดสอบการบิน จำนวน ๑ เครื่อง
ปี พ.ศ.๒๕๒๖
สร้างเครื่องบิน Fantriner ร่วมกับบริษัท RHEIN FLUGZEUGBAU GMBH จากประเทศเยอรมนีและได้บรรจุเข้าประจำการกองทัพอากาศ เป็นเครื่องบินฝึกแบบ ๑๘/ก (FT ๔๐๐ และ FT ๖๐๐) จำนวน ๒๐ เครื่อง
- ทำการซ่อมบำรุง และปรับปรุงสภาพเครื่องบิน เพื่อใช้ในกิจกรรมฝนหลวง ๑๑ เครื่อง คือ เครื่องบินลำเลียง ๔ ก จำนวน ๓ เครื่อง เครื่องบินลำเลียง ๙ จำนวน ๖ เครื่อง และ เครื่องบินโจมตี แบบ ๖
ปี พ.ศ.๒๕๔๒
แผนแบบสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ดับไฟป่า บน.บล. ๒ ก หลังจากว่างเว้นจากการสร้างเครื่องบินมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี เนื่องจาก ทอ.ได้จัดหาเครื่องบิน สมัยใหม่ ได้แก่ เครื่องบิน F-5 และ F-16 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะและเทคโนโลยีสูง ต้องการการซ่อมบำรุงแบบสมัยใหม่ กรมช่างอากาศ ฯ จึงมีแนวความคิดที่จะพัฒนาการสร้างอากาศยาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบิน ตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
ปี พ.ศ. ๒๕๔๙
กรมช่างอากาศ ฯ ได้จัดทำ โครงการสร้าง บ.ทอ.๖ ต้นแบบ ขึ้นและเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ กรมช่างอากาศ ฯ จึงได้ทำโครงการสร้าง บ.ทอ.๒ ขึ้นก่อน จำนวน ๑ เครื่อง โดยการ Reverse Engineering บ.แบบ Marchetti (บ.ฝ.๑๕) ซึ่งเป็น บ.ฝึกสมรรถนะสูง และ บ.ทอ.๒ ได้ผ่านทำการบินทดสอบไปแล้ว เมื่อ ก.ย.๕๐
        โครงการสร้าง บ.ทอ.๖ ต้นแบบ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ขณะนี้ได้ดำเนินการประกอบโครงสร้างหลักและพื้นบังคับเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มทำการทดสอบ การทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในเดือน มี.ค. ๕๔ ทดสอบเสร็จ บ. พร้อมบินเที่ยวแรก ใน ๑๙ เม.ย. ๕๔
        ปัจจุบัน กรมช่างอากาศ ฯ ดูแล รับผิดชอบการส่งกำลังและซ่อมบำรุงอากาศยาน ของกองทัพอากาศ จำนวน ๙ ประเภท ได้แก่ ประเภทขับไล่ ประเภทโจมตี ประเภทลำเลียง ประเภทลาดตระเวน ประเภทเฮลิคอปเตอร์ ประเภทบุคคลสำคัญ ประเภทฝึกสังกัดโรงเรียนการบิน ประเภทฝึกสังกัดกองบิน และประเภทปฏิบัติเฉพาะกิจพิเศษ
        นอกเหนือจากการส่งกำลังและซ่อมบำรุงอากาศยานของกองทัพอากาศแล้ว กรมช่างอากาศ ฯ ยังมีภารกิจที่รับผิดชอบ งานซ่อมบำรุง ดัดแปลง แก้ไขอากาศยานพระราชพาหนะประจำพระองค์ของพลเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร รวมถึงรถยนต์พระที่นั่งโบราณ และงานสนับสนุนแก่หน่วยต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา ดังนี้
๑. งานทำความสะอาด ตกแต่งสี และปรับปรุงสภาพภายในและภายนอก บ.ล.๕ และ ฮ.๖ก และงานขนย้าย-ประกอบติดตั้ง บ.ข.๑๘ข ณ วังทวีวัฒนา
๒. งานทำความสะอาด ตกแต่งสี และปรับปรุงสภาพภายในและภายนอก บ.และ ฮ. ตั้งแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ ทอ. จำนวน ๑๗ เครื่อง บ.ตั้งแสดง ณ นขต.ทอ., รร.การบิน และ กองบินต่าง ๆ จำนวน ๑๑ เครื่อง
๓. งานสร้างผ้าคลุม บ.ฝ.๑๕ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน, สร้างผ้าคลุม บ.ข.๑๘ข หน่วยบินเดโชชัย ๓ และสร้างผ้าคลุมเก้าอี้ที่นั่งในห้อง VIP ของ บ.ล.๑๖
๔. งานดำเนินการปรับปรุงสภาพภายในและตกแต่งสี บ.ฝ.๑๔ (VVIP) จำนวน ๓ เครื่อง
๕. งานดำเนินการสร้างแท่นบรรยายด้วย Canopy ของ บ.ขฝ.๑
๖. งานปรับปรุงสภาพ บ.ข.๑๘ข เพื่อนำไปตั้งแสดง ณ รร.นอ.
๗. งานสร้าง Main Rotor Blade ของ ฮ.๕ , สร้าง Tail Rotor Blade ของ ฮ.๑ และปรับปรุงสภาพภายใน ฮ.๓ ณ พิพิธภัณฑ์ ทอ.
๘. งานเคลื่อนย้าย บ.จ.๖ จากพิพิธภัณฑ์ ทอ.ไปตั้งแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย และนำกลับ
๙. งานสร้างเรือท้องแบน จำนวน ๒๒ ลำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
งานโครงการที่สำคัญ
๑. โครงการ Falcon Star บ.ข.๑๙/ก ทั้ง ๓ ฝูงบิน จำนวน ๕๗ เครื่อง ระยะเวลาดำเนินการ ๕๒ เดือน ตั้งแต่ ธ.ค.๕๐ – มี.ค.๕๕ ดำเนินการเสร็จแล้ว ๓๔ เครื่อง กำลังดำเนินการ ๙ เครื่อง ยังไม่ได้ดำเนินการ ๑๔ เครื่อง
๒. โครงการ TKT Rewiring บ.ข.๑๙/ก ฝูง.๑๐๒ และ ฝูง.๑๐๓ จำนวน ๓๙ เครื่อง ดำเนินการเมื่อ บ.เข้าตรวจ PHASE ดำเนินการเสร็จแล้ว ๒๘ เครื่อง กำลังดำเนินการ ๑๑ เครื่อง
๓. โครงการ PDM + Avionics Upgrade (AUP) บ.ล.๘ ฝูง.๖๐๑ Phase 2 ๓๕ เดือน (ต.ค.๕๐ – ก.ย.๕๓) จำนวน ๖ เครื่อง ดำเนินการเสร็จแล้ว ๔ เครื่อง กำลังดำเนินการ ๒ เครื่อง
๔. โครงการ ECTM (Engine Condition Trend Monitoring) บ.ล.๘ ฝูง.๖๐๑ จำนวน ๑๒ เครื่อง ทยอยดำเนินการดัดแปลงเมื่อ บ.ไม่ติดภารกิจ ดำเนินการเสร็จแล้ว ๓ เครื่อง
๕. โครงการ PDM บ.ขฝ.๑ ฝูง.๔๐๑ และ ฝูง.๔๑๑ จำนวน ๒๖ เครื่อง ระยะเวลาดำเนินการ ๕๙ เดือน (ส.ค.๕๓ – ก.ค.๕๘) กำลังดำเนินการ ๒ เครื่อง
๖. โครงการ 10 Yrs. Depot Insp. บ.จ.๗ ฝูง.๒๓๑ จำนวน ๑๖ เครื่อง PHASE 1 ๒๒ เดือน (ก.ค.๕๓ – เม.ย.๕๕) จำนวน ๖ เครื่อง กำลังดำเนินการ ๒ เครื่อง (PHASE 2 ๒๘ เดือน (ต.ค.๕๔ - ม.ค.๕๗) จำนวน ๑๐ เครื่อง)
งานด้านขวัญและวินัย
๑. จัดให้มีบรรยายธรรมะทุกวันพุธสิ้นเดือนโดยพระเกจิอาจารย์ และให้มีการปฏิบัติธรรมนอกที่ตั้งปีละ ๑ ครั้ง จำนวน ๒ วัน
๒. จัดให้มีการออกกำลังกายโยคะเพื่อสุขภาพทุกบ่ายวันพุธ และ แอร์โรบิค ทุกเย็นวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
๓. จัดการอบรมกีฬาเทนนิส แบดมินตัน ว่ายน้ำ และคอมพิวเตอร์ภาคฤดูร้อนแก่บุตรหลาน ข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานราชการ เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และห่างไกลยาเสพติด
๔. นิมนต์พระสงฆ์ มารับบิณบาตรจากข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการหน้าอาคาร บก.ชอ. ทุกวันพระ
๕. จัดร้านขายของสินค้า อุปโภค บริโภค ราคาถูกให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงาน ราชการ ทุกวันจันทร์ที่ ๒ ของเดือน 
        นับตั้งแต่ ๑๙ เมษายน ๒๔๖๕ ซึ่งถือเป็นวันสถาปนากรมช่างอากาศจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๘๙ ปี เราช่างอากาศทุกคน ได้ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย ด้วยความวิริยะ อุตสาหะและมุ่งมั่นที่จะพัฒนากิจการช่างอากาศ ไม่ว่าเป็นการซ่อมบำรุงหรือการส่งกำลังบำรุง รวมทั้งการวิจัยพัฒนาโครงการต่าง ๆ ให้มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ซึ่งเราช่างอากาศทุกคนเต็มใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์กองทัพอากาศให้ก้าวไปสู่ One of The Best Air Forces in Asean